ฉันจึงมาหาความหมาย


ฉันจึงมาหาความหมาย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514
วิทยากร เชียงกูล
(พ.ศ. 2489 - )


ฉันจึงมาหาความหมาย เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น บทละคร และบทกวี ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นในขณะที่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงปี 2508 - 2512 หนังสือเล่มนี้ ได้มีบทบาทเป็นหลักเขตทางความคิดในยุคแห่งการแสวงหาคำตอบของชีวิตมหาวิทยาลัย
และการตั้งคำถามต่อระบบสังคม ชีวิตทางสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง ในยุคมืดทางปัญญา ที่สืบเนื่องติดต่อกันมาตั้งแต่ การปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 แก่นเรื่องของเรื่องสั้น และบทละคร นอกจากจะสะท้อนความคิด
และการตั้งคำถามต่อชีวิตมหาวิทยาลัย ต่อสังคมชีวิตทางสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง
และช่องว่างทั้งระหว่างเมืองกับชนบท และคนมั่งมีกับคนยากไร้ ให้แตกต่างห่างออกไปยิ่งขึ้นนั้นแล้ว ยังเป็นตัวแทนที่สะท้อนความคิดของยุคสมัยของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยในยุคนั้น ทั้ง "กระตุ้น" ให้ความคิด และการตั้งคำถามในหนังสือ
ฉันจึงมาหาความหมาย กระจายแพร่หลายออกไปในหมู่นักเรียนนักศึกษา จนพัฒนากลายเป็นขบวนการนักศึกษาประชาชนในเวลา 2-3 ปีต่อมา คือ ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516
หนังสือเล่มนี้ มีส่วนและเป็นปัจจัยทางอ้อม ปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ที่นำมาสู่เหตุการณ์ การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 จุดเด่นในความคิด และการตั้งคำถามในเชิงแสวงหา ในหนังสือฉันจึงมาหาความหมายอยู่ที่บทกวี และกลอนเปล่า ซึ่งมีวรรคทองที่ยังจดจำกันมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
(จากบทกวี ชื่อ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน)

ที่มา:หนังสือดี100ชื่อเรื่อง ที่คนไทยควรอ่าน

Search

GosuBlogger

Ads