ความเป็นอนิจจังของสังคม


ความเป็นอนิจจังของสังคม
พิมพ์ครั้งแรก 2500
ปรีดี พนมยงค์
(พ.ศ. 2443 2526)

"ความเป็นอนิจจังของสังคม" มีลักษณะเด่น ต่างไปจากงานอื่นๆ
ที่คล้องกันทางโลกทัศน์ อยู่อย่างน้อย 5 ข้อ คือ
(1) เป็นการประสานระหว่างความคิดปรัชญาแนวสังคมนิยมกับพุทธธรรม
ที่สามารถสาวโยงรากศัพท์ฮินดี บาลี พร้อมๆ ไปกันกับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์รากศัพท์ โรมัน ละติน อย่างคล่องแคล่ว ทั้งในเวทีตะวันตกและตะวันออก ที่สำคัญกว่าความรู้ทางนิรุกติศาสตร์ คือ พุทธธรรม อาจจะไม่เป็นที่รับรู้กันกว้างขวางนักว่า แท้จริงแล้ว ปรีดี เคยได้ผูกสัมพันธ์กับท่านพุทธทาส สนใจศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีความเชื่อมั่น ศรัทธาในกฎแห่งกรรมอย่างจริงจัง ผู้ที่สามารถจะกล่าวได้ว่า "ไดอาเล็กติเก" (Dialektike) ของกรีกโบราณก็คือ วิธีธรรมสากัจฉา
หรือปุจฉาวิสัชนาธรรมของพระพุทธองค์นั่น เอง" (น. 71) จำต้องมีความรู้ ทั้งในอารยธรรมตะวันตก และพุทธปรัชญาเป็นอย่างดี
(2) สำหรับองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ และการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม ในสังคมไทยเป็นงานริเริ่ม แปลกใหม่ ในความเห็นของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักวิชาการ ผู้ศึกษางานของปรีดีอย่างจริงจังผู้หนึ่ง ยกย่อง "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ว่า เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญยิ่งของ "ผู้นำทางทฤษฎี" ที่ผู้ศึกษาสังคมไทยไม่ว่า จะก่อนหรือหลัง 2475 ต้องให้ความสนใจ
(3) เนื้อหาของหนังสือซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง กฎแห่งอนิจจังของสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนำมาใช้ได้กับกรณีของมนุษย์สังคม ตรงกับกฎธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ทางสังคม (น. 15) นี้นั้น สอดคล้องกับสำนวนภาษา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทย สำนวน ศัพท์ลายคราม
และใช้การอธิบายอย่างย่อ ความกระชับเข้าใจได้ง่าย เพราะฉะนั้น หนังสือจึงมีเนื้อความมาก แม้จะสั้นเพียงประมาณ 100 หน้า (ขนาดพ็อคเก็ตบุ๊ก)
(4) เช่นเดียวกับข้อเขียนเล่มอื่นๆ ที่ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ได้เสนอบัญญัติศัพท์อยู่หลายต่อหลายคำศัพท์
(5) ถ้าความรู้จะเสริมส่งจริยธรรมได้ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" นี้ก็ให้ความตระหนักถึงชีวิตสังคมว่า ยืนยาวกว่าชีวิตของปัจเจกบุคคลมากนัก ซึ่งเราแต่ละคน เป็นเพียงส่วนน้อยๆ ของเศษเสี้ยวเล็กๆ ส่วนหนึ่งของความเป็นไปประวัติศาสตร์ เมื่อรู้สึกถึงความเป็นเพียงธุลีหนึ่งนี้แล้ว ก็อาจจะได้ช่วยลดอัตตาของตนได้บ้าง ส่วนสารอีกด้านหนึ่ง คือ มองตนเองให้เป็นส่วนหนึ่ง ของความเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ การมองข้างหน้าไปไกลๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความฝัน วาดความหวังในอนาคตที่สุขสว่างข้างหน้า จากภาวะที่หมองหม่นในปัจจุบัน แต่เป็นดาวนำทาง แม้ว่าเราอาจจะไม่มีทางได้ไปถึงดวงดาวได้ แต่ดาวนั้นเป็นแสงชี้ทาง ในการกระทำของเรา และพิจารณาถึงกรรมของแต่ละคน ที่ฝากสั่งสมไว้สู่ยุคศรีอาริยเมตไตรย

Search

GosuBlogger

Ads