ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก


ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500
เดือน บุนนาค
(พ.ศ. 2448 - 2515)

ชื่อหนังสือเน้นที่ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ส่วนเนื้อหาส่วนใหญ่นั้น
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ ตัวบทของ เค้าโครงฯ กฎหมายที่จะให้เค้าโครงฯ
เกิดผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือ ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร รายงานการประชุม ที่จดแบบคำต่อคำของผู้ที่พิจารณาเค้าโครงฯ รวมไปถึงพระบรมราชวินิจฉัย คุณค่าหลักของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ได้รวมเอกสารเหล่านี้ ตามต้นฉบับมาไว้ในเล่มเดียวกัน ให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณ ตรึกตรองด้วยตนเองต่อทั้งเค้าโครงฯ และปฏิกิริยาอันมีทั้งข้อสนับสนุน (ซึ่งแผ่วเบา) และข้อคัดค้าน (ซึ่งแข็งกร้าว) ผู้อ่านอาจจะอดไม่ได้ที่จะมีความเห็นของตนเอง จึงอยู่ในฐานะเสมือนเข้าร่วมถกเถียงด้วย ในกาลปัจจุบันใครจะมีความเห็นอย่างไรต่อเค้าโครงฯ นี้ ไม่มีผลอย่างไรในทางปฏิบัติ และความเร่าร้อน รุนแรง ในฐานะที่เค้าโครงฯ จะพลิกโฉมหน้าแผ่นดินไทยก็มอดดับไปแล้ว การอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงน่าจะเป็นการใช้ปัญญาและเหตุผล ที่อารมณ์และคติต่างๆ จะเจือจางลงมากกว่าแต่ก่อน
โดยสาระหลักแล้ว หนังสือเล่มนี้ เป็นการรวบรวมเอกสาร แม้จะไม่ได้รวมเอกสารสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกันอีก 2 ชิ้น คือ บันทึกเรื่องรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งสาภาได้ลงมติตั้ง เพื่อให้สอบสวนว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25/2576 (สามัญ) สมัยที่ 2" แต่ที่ชดเชยได้ คือ ส่วนที่เป็นข้อเขียนของเดือน บุนนาคเอง คือ ใน 2 บทต้น เขาได้เสนอประวัติของปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเขา และสภาพเหตุการณ์แวดล้อม สมัยเมื่อเป็นนักเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกัน และเมื่อได้ร่วมงานกันในวงการอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่ธรรมศาสตร์ และใน 2 บทท้าย เมื่อได้เสนอเอกสารดังกล่าวแล้ว เขาก็แสดงความคิดเห็นต่อความขัดแย้งระหว่างผู้เสนอเค้าโครงกับผู้คัดค้าน ความเห็นของเขานั้นถกเถียงกับผู้ที่คัดค้าน และระบุถึงความคิดบางประการในเค้าโครงฯ ได้นำมาปฏิบัติ ซึ่งนอกจากจะน่าสนใจในตัวของมันเองแล้ว ยังเป็นการเชื้อชวนให้ผู้อ่านมีความเห็นแตกต่างออกไปอีกด้วย

Search

GosuBlogger

Ads