กาเลหม่านไต


กาเลหม่านไต
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504
บรรจบ พันธุเมธา
(พ.ศ. 2463 - 2535)


กาเลหม่านไต คือ หนังสือแนวสารคดีเชิงวิชาการ เขียนโดย ดร.บรรจบ พันธุเมธา นักอักษรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาไทถิ่นต่างๆ กาเลหม่านไต เป็นภาษาไตคำตี่ แปลตรงตัวว่า ไปเที่ยวบ้านไท เขียนขึ้นโดยใช้รูปแบบบันทึกการเดินทางประจำวัน ในวาระที่อาจารย์บรรจบ พันธุเมธา เดินทางไปค้นคว้า เรื่องของคนไทนอกประเทศ ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ในปี 2498 จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อศึกษา และสอบเทียบภาษาอาหม โดยเฉพาะการออกเสียงควบกล้ำว่า มีมากกว่าภาษาไทย ที่ใช้พูดกันในประเทศไทยปัจจุบันจริงหรือไม่อย่างไร
การตั้งจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงไว้เช่นนี้ เป็นวิธีการศึกษาทางภาษาศาสตร์ เป็นที่เข้าใจได้ว่า หากสามารถศึกษาค้นคว้าได้บรรลุวัตถุประสงค์ ผลของการศึกษา ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจต่อความเป็นมาดั้งเดิมของชนชาติไทได้ดีขึ้น หนังสือบันทึกการเดินทาง เที่ยวบ้านไท ในรัฐอัสสัมเล่มนี้ มิใช่หนังสือตำราทางภาษา แต่ก็มีการสอดแทรกถ้อยคำภาษาไท และข้อสังเกตของผู้บันทึกการเดินทาง ประกอบอย่างอุดมสมบูรณ์ โดยเหตุที่แต่ละถ้อยคำ สำนวน ได้รับการถ่ายทอดไว้ ในบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทที่เป็นจริง ในทางกลับกันจึงทำให้หนังสือเล่มนี้ เป็นตำราทางภาษาไทถิ่นที่มีชีวิตชีวา น่าอ่าน และอ่านเข้าใจง่ายที่สุดเล่มหนึ่ง เมื่อเทียบกับตำราทางภาษาศาสตร์ภาษาถิ่น ที่ใช้ศาสตร์เข้าจับอย่างเป็นระบบ แต่แข็งกระด้างไม่ชวนอ่าน
หนังสือเล่มนี้ จึงมีคุณค่าทางภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาถิ่นต่างๆ ของคนไทนอกประเทศ ที่ประเมินค่ามิได้ กาเลหม่านไต แม้จะเป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์ ในประเทศอินเดีย แต่เป็นท้องถิ่นชนบทไท บรรยากาศตลอดทั้งเล่ม จึงอวลกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยที่เราต่างรู้จักคุ้นเคย และส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติ จนถือเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ เช่น ธรรมเนียมใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับขับสู้
อาจารย์บรรจบเป็นคนช่างสังเกต จดจำ และบันทึกแม้สิ่งที่เป็นรายละเอียดที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญอะไรนัก เช่น เมื่อกินข้าวใหม่หอมหวาน ค่อนข้างเหนียว ก็เล่าให้ชาวอาหมฟังถึงข้าวเหนียวบ้านเรา ก็เลยได้ความรู้เพิ่มเติมว่า ที่นั่นก็มีข้าวเหนียวกินอย่างบ้านเราเช่นกัน เรียกชื่อในภาษาอัสสัมว่า "ข้าวบอราจาวาล” ในทันทีนั้น ท่านก็สามารถเชื่อมโยงชื่อเรียกข้าวเหนียวนี้ กับคำอธิบายวิธีก่อตึกของชาวอาหมได้ว่า เขายาอิฐให้ติดกันแน่นด้วยน้ำบอราจาวาลนี้ แท้จริงก็คือ น้ำข้าวเหนียวนั่นเอง ความรับรู้ที่เชื่อมโยงอย่างมีบูรณาการนี้ ให้ความรู้อย่างอเนกอนันต์ ให้กับวงการไทยศึกษา ในระยะต่อมาได้เป็นอย่างดี เพราะท่านได้เจาะพบถึงทั้งวัฒนธรรมข้าวของสังคมชนชาติไท ขณะเดียวกันก็ให้ร่องรอยของภูมิปัญญาไท ที่ได้มาการสั่งสมสืบทอดมา
ดังที่นักวิชาการรุ่นหลังได้พบว่า บรรดาเจดีย์โบราณรุ่นแรกๆ ในแผ่นดินไทยปัจจุบัน มีแกลบข้าวเหนียวผสมอยู่ในอิฐก่อฐานเจดีย์
การค้นพบดังกล่าวถือว่า เป็นองค์ความรู้ใหม่ทางด้านโบราณคดีไทย การพรรณนาถึงหมู่บ้านคนไทในอัสสัมใน กาเลหม่านไต ยังให้ภาพที่ชัดเจนของลักษณะชุมชนไทที่ตั้งรายเรียงกันอยู่ริมแม่น้ำ มีการทำนากันเป็นส่วนใหญ่ บ้านไท และวัดไท เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างชุมชนที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เรือนไทมีใต้ถุนสูง มีนอกชาน ปลูกพืชผักสวนครัว
สำหรับผู้สนใจภาษา ก็จะได้ความรู้ความเพลิดเพลิน จากการเปรียบเทียบศัพท์สำนวนไท-ไทย เช่น ที่เรารู้จักสำนวนไทย “เข้าวัดเข้าวา สำนวนเข้าวา หมายถึง ทำบุญเข้าพรรษา และบวชวาเดียว หมายถึง บวชพรรษาเดียว นับว่าอ่านแล้วได้ความรู้เรื่องภาษาและมิติที่ลึกซึ้งทางความหมาย ที่คนไทยปัจจุบันอาจลืมเลือนกันไปแล้ว

ที่มา:หนังสือดี100ชื่อเรื่อง ที่คนไทยควรอ่าน

Search

GosuBlogger

Ads