ผู้ชนะสิบทิศ


ผู้ชนะสิบทิศ
พิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2474-2482
ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)
(พ.ศ. 2450-2499)

นิยายเรื่องนี้ ดำเนินตามกลวิธีนิยายโบราณ ทุกประการ เนื้อเรื่องอิงพงศาวดารพม่าและไทย และอิงอย่างนิยายทั้งหลาย คือ ไม่ถือภูมิศาสตร์ หรือกาลเวลาอย่างกวดขัน ความเยี่ยมของผู้ชนะสิบทิศ อยู่ที่ลักษณะอันประกอบกันขึ้นเป็นนิยาย ยาขอบ ใช้ชีวิตบรรยายตามเหตุการณ์ ผู้แต่งอยู่ในฐานะเป็นสัพพัญญู เกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง
คือ รู้และชี้แจงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ในขณะต่างๆ ของตัวละคร ตัวละคร ใช้สำนวนเดียวกันหมด แต่เช่นเดียวกับนิยายชั้นดีของโบราณ ลักษณะนิสัยของตัวละครแต่ละตัว เป็นบุคคลที่กำใจคนอ่านได้ ส่วนสำนวนภาษา เป็นสำนวนของยาขอบเอง เป็นสำนวนร้อยแก้ว ที่ละม้ายสำนวน ในหนังสือราชาธิราช และหนังสืออิงพงศาวดารจีน แต่ไม่เหมือนทีเดียว
คุณค่าของผู้ชนะสิบทิศ นอกจากความเริงรมย์ อรรถรสทางภาษา ที่ไม่เหมือนใคร มีความไพเราะงดงาม ยังเป็นค่าควรเมือง การสรรค์สร้างผลงานนี้ แม้จะมีเค้าของวรรณคดีดั้งเดิม แต่การพลิกปลายปากกา ในอีกเหลี่ยมหรือมุมใหม่ เป็นเยี่ยงและอย่าง ของการอนุรักษ์กับพัฒนา ที่ทำอย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่เพียงศึกษาเรื่องของไทย อย่างเชี่ยวชาญ การผ่านวรรณกรรมต่างชาติ เช่น ทะแกล้วทหารสามเกลอ (The Three Musketees) ของดูมาส์ (Dumas) เราได้เห็น เงาก่อวิญญาณใหม่ เป็นคู่บารมีจะเด็ด นั่นคือ จาเลงกะโบ เนงบา และสีอ่อง
ความชำนาญการแห่งการประพันธ์ของยาขอบ มิใช่เพียงการอ่านมาก ฟังมาก แล้วจึงเขียนได้วิเศษ ความวิเศษของความสมจริงจากการประพันธ์จินตนิยายนี้ คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรง กลั่นมาจากชีวิตที่เคยผ่านพบ คำฝากรัก วอนสวาท คำตัดพ้อ
ใช่เรื่องประดิษฐ์ รจนาล้วนๆ ก็หาไม่ คำบางคำ สรรมาแล้วจากชีวิตจริง หยิบเพชรร่วง ในจดหมายรักของตนเอง จากเคยมีไป-มา ระหว่างคนรัก ที่ต่างนาง ต่างกรรม และวาระ สิริรวม จดหมายรักของยาขอบ ประมาณ 700 ฉบับ หรือความสมจริง แห่งการบรรยายเรื่องม้าศึก ก็มาจากวัยเยาว์ ยาขอบ เคยควบอาชา ในฐานะจ็อกกี้

ที่มา:หนังสือดี100ชื่อเรื่อง ที่คนไทยควรอ่าน

Search

GosuBlogger

Ads